วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ผู้เยาว์ทำพินัยกรรมได้ เมื่ออายุครบ 15 ปี....อย่างไร..

ปัจจุบัน ได้มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก หากเจ้าของทรัพย์สินรู้จักบริหารจัดการในระหว่างทายาท ลูก หลาน และผู้ที่เกี่ยว ก็อาจจะทำให้ปัญหาลดลง นำมาซึ่งสงบ และสันติสุขในสถาบันครอบครัว การทำพินัยกรรมก็เป็นทางออกประการหนึ่ง จึงได้นำเสนอเพื่อเป็นวิทยาทาน

1.  พินัยกรรม 

พินัยกรรม คือ  การแสดงเจตนาโดยพินัยกรรม  กำหนดการเผื่อตาย  ในเรื่องทรัพย์สินของตนเองหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย

 

2.  บุคคลซึ่งจะเป็นผู้ทำพินัยกรรมได้

บุคคลซึ่งจะเป็นผู้ทำพินัยกรรมได้ คือ 

(๑) ต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น

(๒) ผู้เยาว์สามารถทำพินัยกรรมได้หากผู้เยาว์นั้นมีอายุครบ  15  ปีบริบูรณ์

(๓) คนวิกลจริต  ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (คนบ้า) หากได้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมเป็นโมฆะ  ถ้าศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  พินัยกรรมนั้นใช้ได้ จะใช้ไม่ได้ (เสียเปล่า) ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นได้ทำพินัยกรรมในขณะที่บุคคลนั้นเป็นคนวิกลจริต

(๔)  คนเสมือนไร้ความสามารถ  ทำพินัยกรรมได้มีผลสมบูรณ์

 

3.  กรณีที่ข้อกำหนดให้พินัยกรรมตกไปใช้บังคับไม่ได้ ได้แก่กรณีที่

                ก.  เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

                ข.  เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง  และผู้รับพินัยกรรมตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้

ค.  เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม

ง.  เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้สูญหายหรือถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งใจในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่  และผู้ทำพินัยกรรมมิได้มาซึ่งของแทนหรือซึ่งสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายไป

 

4.  แบบพินัยกรรม

พินัยกรรมแบบธรรมดา  ผู้ทำพินัยกรรมแบบธรรมดาต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) ต้องทำพินัยกรรมเป็นหนังสือ

(๒) พินัยกรรมที่ทำขึ้นต้องลง  วันที่  เดือน  ปี  ขณะที่ทำพินัยกรรม  ถ้าไม่ลงไว้พินัยกรรมเป็นโมฆะ

(๓) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย  2  คน  พร้อมกัน   ถ้าเขียนชื่อตนเองไม่เป็นจะพิมพ์ลายนิ้วมือก็ได้  แต่ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายนิ้วมือนั้นอีก  2  คน  เมื่อผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อแล้ว  จะต้องให้พยานอีก  2  คน  ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้นด้วย  ซึ่งพยานที่ลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าวจะต้องเขียนชื่อตนเองเป็นมิฉะนั้นแล้วไม่สามารถเป็นพยานในพินัยกรรมได้

(๔) ถ้าจะมีการแก้ไขพินัยกรรมโดยการขูด ขีด ลบ หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น  จะต้องทำเป็นหนังสือลงวัน  เดือน  ปี  และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย  2  คนพร้อมกัน  มิฉะนั้นพินัยกรรมส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สมบูรณ์  แต่คงเสียไปเฉพาะแต่ข้อกำหนดนั้นเท่านั้น  หาทำให้พินัยกรรมส่วนอื่นเสียไปทั้งฉบับด้วยไม่

  

พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ  ผู้ทำพินัยกรรมต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนข้อความในพินัยกรรมเป็นหนังสือด้วยลายมือตนเองจะให้ผู้อื่นเขียนให้มิได้ ดังนั้น  พินัยกรรมแบบนี้ถ้าผู้ทำพินัยกรรมเขียนหนังสือไม่เป็นก็ไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบนี้ได้

(๒) ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงวันที่ เดือน ปี และลายมือชื่อของตนในพินัยกรรม  จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานรับรอง  2  คน  ไม่ได้

(๓) กรณีที่จะมีการขูดลบ  ตก  เติม  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรม  ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องทำเอง  แล้วลงลายมือชื่อกำกับมิฉะนั้นพินัยกรรมในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์

 

พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง   ผู้ทำพินัยกรรมต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

                (๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนต่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อย  2  คนพร้อมกัน

            (๒)  การแจ้งข้อความตามข้อ 1 ก็เพื่อให้ผู้อำนวยการเขต  หรือนายอำเภอจดข้อความ เสร็จแล้วต้องอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง

                (๓) เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่าข้อความนั้นถูกแล้ว  ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือไว้เป็นสำคัญ

                (๔) ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ  ต้องลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี พร้อมกับเขียนลงไปในพินัยกรรมด้วยว่า  พินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้อง  เสร็จแล้วประทับตราประจำตำแหน่ง

                (๕) กรณีมีการขูดลบ ตกเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนี้  ผู้ทำพินัยกรรม  พยาน  และผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้มิฉะนั้นพินัยกรรมในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์

  

พินัยกรรมแบบเอกสารลับ   ผู้ทำพินัยกรรมต้องปฏิบัติดังนี้

                (๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม

                (๒) ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมใส่ซองแล้วปิดผนึก  เสร็จแล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น

                (๓) ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอและพยานอีกอย่างน้อย  2  คน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน  ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งชื่อและที่อยู่ของผู้เขียนให้ทราบด้วย

  

(๔) เมื่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ จดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี ที่นำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองและประทับตราประจำตำแหน่งแล้ว ผู้ทำพินัยกรรม, ผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอและพยานต้องลงลายมือชื่อบนซองนั้น

                (๕) การขูดลบ  ตก  เติม  หรือแก้ไขพินัยกรรมแบบเอกสารลับ  ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้  มิฉะนั้นพินัยกรรมในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์

                (๖) ในกรณีผู้ทำพินัยกรรมเป็นใบ้ หูหนวก  หรือพูดไม่ได้  ผู้นั้นต้องเขียนด้วยตนเองบนซองพินัยกรรมต่อหน้านายอำเภอ  หรือผู้อำนวยการเขตและพยานด้วยข้อความว่าพินัยกรรมที่ผนึกนั้นเป็นของตนแทนการให้ถ้อยคำตามข้อ ๓

 

พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา  เมื่อมีพฤติกรรมพิเศษไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบใดแบบหนึ่งได้ดังกล่าว เช่น   ผู้ทำพินัยกรรมตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย  หรือมีโรคระบาด  หรือมีสงคราม บุคคลดังกล่าวจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้ โดย

                (๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงความประสงค์จะทำพินัยกรรมต่อหน้าพยาน ๒ คนพร้อมกัน ซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น

                (๒) พยานทั้ง ๒ คนนั้นต้องไปแสดงตัวต่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอโดยไม่ชักช้า และแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้นทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม  และพฤติการณ์พิเศษด้วย

                (๓) ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ ต้องจดข้อความที่พยานแจ้งดังกล่าว

                (๔) พยานทั้ง ๒ คน ต้องลงลายมือชื่อไว้ ถ้าเขียนชื่อตนเองไม่ได้จะลงลายพิมพ์นิ้วมือ

              ---------------------------------------------------------------------------------

5 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  2. ว้าวววบทความเรื่องนี้ทำให้กระจ่างในเรื่องนี้มากขึ้นเลยค่ะพี่วิน
    ขอบคุณสำหรับบทความนี้นะค่ะ^^

    ตอบลบ
  3. ถ้าเราทำพินัยกรรมให้กับทายาทแล้วเจ้าหนี้สามารถยึดทรัพสินของเราไ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ยึดได้ครับ เพราะถือว่า เค้าเป็นเจ้าหนี้ ของทุกสิ่งอย่าง จะคืนเจ้าหนี้ก็ให้ผู้รับต่อไป

      ลบ